
การประชุมวิชาการระหว่างประเทศ
เรื่อง การสื่อสารความเสี่ยง : แนวทางสร้างอนาคตมาบตาพุด
วันศุกร์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2556
ณ. ห้องประชุม 301-302 อาคารมหาจักรีสิรินธร ชั้น 3 คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เวลา 08.30 – 17.30 น.
-----------------------------------------
1. หลักการและเหตุผล
พื้นที่มาบตาพุดและพื้นที่ใกล้เคียง เช่น ห้วยโป่ง เนินพระ ทับมา มาบข่า และบ้านฉาง ของจังหวัดระยองเป็นเขตพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ขณะเดียวกันก็เป็นพื้นที่ปนเปื้อนและประสบปัญหาจากมลพิษอุตสาหกรรมรุนแรงที่สุดเช่นกัน ซึ่งความเดือดร้อนเหล่านี้ทำให้ประชาชนบางส่วนจำต้องทยอยโยกย้ายออกไปจากพื้นที่ แต่ขณะเดียวกันก็มีประชาชนส่วนอีกส่วนหนึ่งที่ได้รวมตัวกันต่อสู้เรียกร้องจนกระทั่งรัฐบาลโดยหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชนได้ตื่นตัวที่จะปรับปรุงและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น รวมทั้งดำเนินมาตรการบางอย่างเพื่อตอบสนองข้อเรียกร้องของประชาชน อาทิ การมีระบบติดตามการปล่อยมลพิษทางอากาศ การตรวจสอบคุณภาพน้ำก่อนระบายทิ้งสู่แหล่งน้ำสาธารณะ การตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมโดยรวมของพื้นที่มาบตาพุดเป็นระยะๆ การซ่อมแซมชายฝั่งที่ถูกกัดเซาะรุนแรง การเฝ้าระวังผลกระทบทางสุขภาพ การให้บริการหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ รวมทั้งการซักซ้อมแผนรับมือภัยฉุกเฉินของจังหวัดและของโรงงานเป็นระยะๆ เช่น เพลิงไหม้ สารเคมีระเบิด เป็นต้น
ปัจจุบันการลงทุนอุตสาหกรรมทั้งในพื้นที่มาบตาพุดและพื้นที่ใกล้เคียงในจังหวัดระยอง ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหกรรมเคมี โรงไฟฟ้าถ่านหิน และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องอื่นๆ นอกจากนี้ยังมีการขยายตัวไปยังจังหวัดอื่นๆ ในภาคตะวันออก อาทิ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และปราจีนบุรี เป็นต้น ปัญหาจากมลพิษอุตสาหกรรมทั้งอากาศเสีย น้ำเสีย และของเสียอันตรายจึงยิ่งแพร่กระจายออกไปเป็นบริเวณกว้างขึ้นและมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นทุกขณะ ทั้งนี้ยังไม่นับผลกระทบทางสังคมที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่จากการขยายตัวของอุตสาหกรรม
ท่ามกลางสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วและนับวันก็ยิ่งมีแนวโน้มจะรุนแรงมากขึ้นเช่นนี้ สังคมไทยกลับยังคงขาดความพร้อมในการรับมือ ไม่ว่าในด้านทรัพยากรและการสนับสนุนที่จำเป็นต่อการเอื้อให้เกิดการพัฒนาความรู้ ความสามารถ และวิทยาการเฉพาะทางอีกหลายแขนงที่จะมารับมือต่อสถานการณ์ปัญหาต่างๆ อาทิ การแพร่กระจายของสารพิษในแหล่งน้ำ ดิน อากาศ และโรคต่างๆ ที่มีสาเหตุมาจากมลพิษ อีกทั้งยังขาดการศึกษาและติดตามผลกระทบของสารพิษในน้ำเสียและอากาศเสียที่ปล่อยจากโรงงานอุตสาหกรรมทั้งในพื้นที่มาบตาพุดและพื้นที่อื่น ขาดการศึกษาในเชิงเศรษฐศาสตร์และสังคมวิทยาที่จะช่วยวิเคราะห์ถึงภาพรวมของผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างครอบคลุม นอกจากนี้ยังขาดกฎหมายและมาตรการรองรับสิทธิของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลสารเคมีและการปล่อยสารพิษสู่สิ่งแวดล้อม ผลจากข้อจำกัดดังที่กล่าวมาทำให้การประเมินความเสียหายที่แท้จริง รวมถึงการสร้างมาตรการป้องกันผลกระทบทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจากการพัฒนาอุตสาหกรรมจึงยังเป็นเรื่องที่ทำได้ยากสำหรับสังคมไทยในปัจจุบัน
ด้วยสภาพปัญหาตลอดจนแนวโน้มของสถานการณ์ รวมถึงเงื่อนไขและข้อจำกัดต่างๆ ที่เผชิญอยู่ การแสวงหาความร่วมมือเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศจึงเป็นสิ่งจำเป็น รวมทั้งเป็นแนวทางสำคัญที่จะพัฒนาไปสู่การสร้างความพร้อมและความเข้มแข็งในการรับมือกับปัญหาให้ดียิ่งขึ้น ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2553 - 2555) ศูนย์วิจัยเปิดมินามาตะศึกษา มหาวิทยาลัยคุมาโมโตกักกุเอ็ง (Open Research Center for Minamata Studies, Kumamoto Gakuen University: ORCM) ซึ่งเป็นสถาบันวิชาการของประเทศญี่ปุ่น ได้ร่วมกับมูลนิธิบูรณะนิเวศ และโครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม ทำการศึกษาวิเคราะห์ภาพรวมของผลกระทบจากการพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่มาบตาพุดและพื้นที่ใกล้เคียง ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และสังคม รวมทั้งการริเริ่มทดลองใช้หลักการ “การสื่อสารความเสี่ยง” มาช่วยสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ อุตสาหกรรม ชุมชน ตลอดจนภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหาผลกระทบในพื้นที่มาบตาพุด นอกจากนี้ยังได้มีการศึกษาและแลกเปลี่ยนความรู้ร่วมกับศูนย์ประสานงานการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ในการประเมินผลกระทบทางสุขภาพโดยชุมชน (ซีเอชไอเอ) อันเป็นกระบวนการสนับสนุนชุมชนให้มีส่วนร่วมตัดสินใจทางนโยบายอย่างมีประสิทธิภาพและเข้มแข็ง
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยเปิดมินามาตะศึกษา มหาวิทยาลัยคุมาโมโตกักกุเอ็ง เป็นสถาบันวิชาการของประเทศญี่ปุ่นที่ส่งเสริมและเผยแพร่การศึกษา “โรคมินามาตะ” หรือโรคจากพิษปรอท ผ่านการพัฒนาแนวความคิด ระเบียบและวิธีการศึกษาแบบใหม่ ที่ก้าวข้ามกรอบคิดและวิธีศึกษาทางวิชาการแบบจารีต ด้วยการเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับให้การสนับสนุนความเข้มแข็งทางวิชาการแก่ชุมชน โดยหวังจะเชื่อมโยงให้สังคมโลกได้มองเห็นและเข้าใจภาพความซับซ้อนทั้งหมดของ “ภัยพิบัติจากโรคมินามาตะ” อันเป็นหายนภัยจากมลพิษอุตสาหกรรมในประเทศญี่ปุ่น และหาหนทางป้องกันมิให้เกิดภัยพิบัติในลักษณะเดียวกันขึ้นอีกไม่ว่าในมุมใดของโลก
การประชุมวิชาการระหว่างประเทศครั้งนี้ รวมถึงการประชุมที่เกี่ยวเนื่องกันตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ถึงวันที่ 2 มีนาคม จึงได้จัดขึ้นเพื่อนำเสนอผลการศึกษาเกี่ยวกับปัญหาและความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่มาบตาพุด และเขตควบคุมมลพิษจังหวัดระยอง ซึ่งคณะนักวิชาการจากศูนย์วิจัยเปิดมินามาตะศึกษา มหาวิทยาลัยคุมาโมโตกักกุเอ็ง ได้ดำเนินการร่วมกับคณะนักวิชาการและเครือข่ายประชาสังคมในประเทศไทย เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ระหว่างภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบ ตลอดจนผู้ที่มีความสนใจและห่วงใยในประเด็นนี้ ทั้งจากประเทศญี่ปุ่น ไทย และกลุ่มประเทศในลุ่มแม่น้ำโขง โดยมุ่งหวังว่าผลที่ได้รับจากการสัมมนาจะเป็นประโยชน์ต่อการวางแนวทางป้องกัน แก้ไข ตลอดจนเตรียมพร้อมรับมือต่อปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาอุตสาหกรรม ทั้งในพื้นที่มาบตาพุด จังหวัดระยอง และพื้นที่อื่นๆ ในอนาคต รวมถึงประเทศในลุ่มแม่น้ำโขง
2. วัตถุประสงค์
1) เพื่อให้เป็นเวทีสัมมนาระหว่างประเทศ ซึ่งเปิดให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งจากประเทศญี่ปุ่น ไทย และกลุ่มประเทศในลุ่มแม่น้ำโขงได้ร่วมถกเถียงและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกัน ถึงแนวทางการรับมือและการป้องกันภัยพิบัติจากการพัฒนาอุตสาหกรรมผ่านกรณีการพัฒนาอุตสาหกรรมที่มาบตาพุด บนพื้นฐานของการเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันกำหนดนโยบายและแนวทางการแก้ปัญหา ตามหลักการ “การสื่อสารความเสี่ยง” (Risk Communication) หลักการให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลการปล่อยมลพิษ (PRTR) เป็นต้น
2) เพื่อสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือกันระหว่างภาควิชาการ เครือข่ายประชาสังคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งจากประเทศญี่ปุ่น ไทย และกลุ่มประเทศในลุ่มแม่น้ำโขง ในการเสริมสร้างความสามารถและความเข้มแข็งแก่ชุมชนเพื่อรับมือกับภัยพิบัติจากการพัฒนาอุตสาหกรรม
3. เจ้าภาพการประชุมและผู้สนับสนุนการจัดงาน
1) เจ้าภาพการประชุม: ศูนย์วิจัยเปิดมินามาตะศึกษา มหาวิทยาลัยคุมาโมโตกักกุเอ็ง ญี่ปุ่น ศูนย์ประสานงานการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม และมูลนิธิบูรณะนิเวศ
2) ผู้สนับสนุนทุน: มูลนิธิโตโยต้า ประเทศญี่ปุ่น และการสนับสนุนทุนบางส่วนจากสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
4. วัน เวลา และสถานที่
วันศุกร์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2556 เวลา 08.30 – 17.30 ณ ห้องประชุม 301-302 อาคารมหาจักรีสิรินธร ชั้น 3 คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
5. กลุ่มเป้าหมาย/ผู้ร่วมการประชุมของการประชุมระหว่างประเทศวันศุกร์ที่ 1 มีนาคม 2556
จำนวนผู้ร่วมสัมมนาจากประเทศไทย ญี่ปุ่น และกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ประมาณ 200 คน
1) หน่วยงานราชการส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง: การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.) กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค สำนักผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระยอง สำนักความปลอดภัยแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สำนักโรคจากการประกอบอาชีพ กรมควบคุมโรค สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดระยอง สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดระยอง สำนักงานนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด สถาบันมะเร็งแห่งชาติ เทศบาลเมืองมาบตาพุด เทศบาลตำบลทับมา เทศบาลเนินพระ เทศบาลตำบลมาบข่า เทศบาลตำบลบ้านฉาง เป็นต้น
2) องค์กรอิสระ/องค์กรมหาชน: สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ สถาบันอนุญาโตตุลาการ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน คณะกรรมการปฏิรูปกฏหมาย คณะกรรมการองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ
3) ผู้แทนภาคเอกชน: สำนักงานนิคมอุตสาหกรรมเหมราชตะวันออก ศูนย์เพื่อนชุมชนและผู้แทนบริษัทในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด สมาคมเคมี สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าจังหวัดระยอง เป็นต้น
4) ผู้แทนภาควิชาการ: นักวิชาการจากคณะทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม และคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและของเสียอันตราย จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา สถาบันนิด้า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตระยอง มหาวิทยาลัยรังสิต สถาบันวิจัยรพีพัฒนศักดิ์ โรงเรียนมาบตาพุดพันพิทยาคาร จังหวัดระยอง เป็นต้น
5) ผู้แทนภาคประชาสังคม: เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก กรีนพีชเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มูลนิธินโยบายสุขภาวะ สถาบันสิ่งแวดล้อม คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ เสมสิกขาลัย เครือข่ายสิ่งแวดล้อมไทย เครือข่ายติดตามผลกระทบโรงไฟฟ้าถ่านหิน สภาองค์กรชุมชนตำบลป่ายุบใน กลุ่มรักษ์บ่อวิน ชุมชนปากน้ำ จังหวัดระยอง เครือข่ายรักษ์อ่าวไทย (เกาะสมุย) เครือข่ายกลุ่มเพื่อนตะวันออก กลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย เป็นต้น
6) ผู้แทนจาก 33 ชุมชนในเขตเทศบาลเมืองมาบตาพุด: วัดมาบตาพุด บ้านบน หนองบัวแดง หนองน้ำเย็น คลองน้ำหู ซอยคีรี ซอยร่วมพัฒนา หนองหวายโสม เขาไผ่ สำนักกะบาก บ้านพลง อิสลาม ตากวน-อ่าวประดู่ ชากลูกหญ้า ตลาดห้วยโป่ง มาบชะลูด มาบข่า–สำนักอ้ายงอน มาบข่า–มาบใน มาบยา เกาะกก–หนองแตงเม กรอกยายชา โขดหิน วัดโสภณ บ้านล่าง ห้วยโป่งใน 1 ห้วยโป่งใน 2 ห้วยโป่งใน–สะพานน้ำท่วม หนองแฟบ ตลาดมาบตาพุด ซอยประปา เนินพะยอม เจริญพัฒนา และเกาะกก
7) ผู้แทนจากต่างประเทศ: ผู้แทนหน่วยงาน/องค์กรจากประเทศพม่า ลาว เขมร ญี่ปุ่น เครือข่ายเอชไอเอในกลุ่มอาเซียน
8) ผู้แทนสื่อมวลชนและประชาชนผู้สนใจ
(ร่าง)
กำหนดการประชุมวิชาการระหว่างประเทศ
เรื่อง การสื่อสารความเสี่ยง : แนวทางสร้างอนาคตมาบตาพุด
วันศุกร์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2556
ณ. ห้องประชุม 301-302 อาคารมหาจักรีสิรินธร ชั้น 3 คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เวลา 08.30 – 17.30 น.
----------------------------------------------
ภาคเช้า
|
|
08.30 – 09.00
|
ลงทะเบียน
|
09.00 – 09.10
|
กล่าวรายงานและชี้แจงวัตถุประสงค์
โดย คุณสุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้จัดการโครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม
|
09.10 – 09.20
|
ประธานกล่าวเปิดการสัมมนา โดย
ผู้แทนจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย*
|
09.20 – 10.00
|
“บทบาทของศูนย์วิจัยเปิดมินามาตะศึกษาและโครงการศึกษาในพื้นที่มาบตาพุด จังหวัดระยอง” โดย
1. ศ. ดร. ทาคาชิ มิยากิตะ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาโรคมินามาตะภาคสนาม เมืองมินามาตะ จังหวัดคุมาโมโต
2. คุณยามาชิตะ โยชิฮิโร ผู้แทนกลุ่มผู้ป่วยโรคมินามาตะ เมืองมินามาตะ จังหวัดคุมาโมโต
|
10.00 – 12.30
|
“การพัฒนาในพื้นที่มาบตาพุด และผลกระทบอันซับซ้อน” โดย
1. คุณเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ
2. ศ. ดร. ฮานาดะ มาซาโนริ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเปิดมินามาตะศึกษา มหาวิทยาลัยคุมาโมโตกักกุเอ็ง
|
|
อาหารว่างและเครื่องดื่ม
|
|
ผู้ให้ความเห็นและนำการอภิปราย
1. ผศ.ปราณี พันธุมสินชัย อดีตคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ
2. คุณพรรรัตน์ เพชรภักดี ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(อยู่ระหว่างติดต่อ)
|
|
การอภิปรายแลกเปลี่ยนร่วมกับผู้เข้าร่วมการสัมมนา
|
|
ดำเนินรายการโดย ดร. บัณฑูร เศรษฐศิโรฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันธรรมรัฐเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
|
12.30 – 13.30
|
อาหารกลางวัน
|
13.30 – 15.15
|
”การสื่อสารความเสี่ยงและการรับรู้ข้อมูล (PRTR) กับการแก้ปัญหามลพิษของญี่ปุ่นและไทย” โดย
ศ. ดร. ชิเกฮารุ นาคาจิ จากคณะสวัสดิการสังคม มหาวิทยาลัยคุมาโมโตกักกุเอ็ง
ผู้ให้ความเห็นและนำการอภิปราย
1. คุณวีระพงษ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (อยู่ระหว่างติดต่อ)
2. ดร. อาภา หวังเกียรติ มหาวิทยาลัยรังสิต
|
|
การอภิปรายแลกเปลี่ยนร่วมกับผู้เข้าร่วมการสัมมนา
|
15.15 – 15.30
|
อาหารว่างและเครื่องดื่ม
|
15.30 – 17.10
|
“ความเข้มแข็งของชุมชนกับการรับมืออุบัติภัยทางอุตสาหกรรม” โดย
ศ. ดร. ทาคาชิ มิยากิตะ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาโรคมินามาตะภาคสนาม เมืองมินามาตะ จังหวัดคุมาโมโต
|
|
ผู้ให้ความเห็นและนำการอภิปราย โดย
1. รศ. ดร. เรณู เวชรัชต์พิมล คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
2. คุณภารนี สวัสดิรักษ์ เครือข่ายวางแผนและผังเมืองเพื่อสังคม
3. คุณสุทธิ อัฌชาศัย เลขาธิการเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก
|
|
การอภิปรายแลกเปลี่ยนร่วมกับผู้เข้าร่วมการสัมมนา
|
|
ดำเนินรายการโดย ศ. สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
|
17.10 – 17.30
|
สรุปและปิดการสัมมนา โดย
ศ. สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ศ. ดร. ฮานาดะ มาซาโนริ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเปิดมินามาตะศึกษา มหาวิทยาลัยคุมาโมโตกักกุเอ็ง
|
หมายเหตุ รับประทานอาหารกลางวัน ณ โถงเอนกประสงค์ ชั้น 9 อาคารมหาจักรีสิรินธร คณะอักษรศาสตร์