การแถลงข่าว
เรื่อง การสะสมของสารปรอทในปลาและคน บริเวณรอบโรงไฟฟ้าและพื้นที่อุตสาหกรรม
ตำบลท่าตูม อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี
ร่วมจัดโดย
มูลนิธิบูรณะนิเวศ เครือข่ายเพื่อนตะวันออก และวาระเปลี่ยนตะวันออก
วันพุธที่ 9 มกราคม 2556 เวลา 10.00 - 12.00 น
สถานที่: ห้องประชุมชั้น 3 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถนนสามเสน กรุงเทพมหานคร
---------------------------------------------
1. ความเป็นมาของโครงการ
โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาเรื่องการสะสมของสารปรอทในปลาและเส้นผมของประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้แหล่งกำเนิดสารปรอท ซึ่งทำการศึกษาการสะสมสารปรอทในปลาพร้อมกันใน 24 ประเทศ และศึกษาการสะสมสารปรอทในเส้นผมของคนใน 27 ประเทศ ช่วงระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงพฤศจิกายน 2555
โดยมีวัตถุประสงค์ของการศึกษาเพื่อร่วมกันประเมินสถานการณ์การปนเปื้อนของสารปรอทในสิ่งแวดล้อมอันเกิดขึ้นจากกิจกรรมของมนุษย์ และสารปรอทที่สะสมอยู่ในสิ่งมีชีวิต โดยเฉพาะในปลาและร่างกายของมนุษย์ ทั้งในระดับโลกและระดับประเทศ ผลการศึกษานี้จะเป็นส่วนหนึ่งของผลงานวิชาการเพื่อนำไปประกอบการสนับสนุนการผลักดันให้เกิดอนุสัญญาว่าด้วยสารปรอท ที่ดำเนินการโดยโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) และจะมีการเจรจาเพื่อปรับปรุงแก้ไขร่างอนุสัญญาครั้งสุดท้ายระหว่างวันที่ 13-18 มกราคม 2556 ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ก่อนที่จะให้รัฐบาลของประเทศภาคีสมาชิก รวมถึงประเทศไทย ให้สัตยาบันรับรองต่อไป
ความพยายามของสหประชาชาติและองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมทั่วโลกที่เร่งผลักดันให้เกิดอนุสัญญาว่าด้วยสารปรอท เนื่องจากต่างมีความเห็นร่วมกันว่า สารปรอท เป็นโลหะหนักชนิดหนึ่งที่เป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อมต่อชีวิตทั้งมนุษย์และสัตว์ต่างๆ ทั้งในระดับโลกและระดับท้องถิ่น สารปรอทเป็นสาเหตุสำคัญของความเจ็บป่วยในมนุษย์หากมีการสะสมในร่างกายจำนวนมาก โดยเฉพาะการรับประทานปลาที่มีสารปรอทสะสมเข้าไปในปริมาณมาก ขณะเดียวกันสารปรอทสามารถตกค้างยาวนานในสิ่งแวดล้อม เป็นสารพิษที่จัดการได้ยากและไม่อาจทำลายได้ โดยแหล่งกำเนิดสารปรอทที่สำคัญได้แก่ น้ำเสีย ของเสียอันตราย มลพิษอากาศจากโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล โรงผลิตปูนซีเมนต์ เตาเผาขยะ โรงงานอุตสาหกรรมบางประเภท และผลิตภัณฑ์บางชนิดที่มีปรอทเป็นส่วนผสม เช่น ครีมหน้าขาว ถ่านไฟฉาย หลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ และอุปกรณ์การแพทย์บางประเภท อย่างไรก็ดี ประเทศต่างๆ ยังขาดแนวทางและมาตรการที่เป็นรูปธรรมในการปกป้องสุขภาพมนุษย์และสิ่งแวด ล้อมให้ปลอดภัยจากมลพิษประเภทนี้ ร่างอนุสัญญาว่าด้วยสารปรอทจึงจะเป็นกฎหมายระหว่างประเทศที่สำคัญอีกฉบับหนึ่งที่จะปกป้องมนุษย์และสิ่งแวดล้อมให้ปลอดภัยมากขึ้น
2. การสะสมของสารปรอทในปลาและคน กรณีท่าตูม จังหวัดปราจีนบุรี
การศึกษาการสะสมของสารปรอทในปลาและคน กรณีท่าตูม จังหวัดปราจีนบุรี เป็นกรณีการศึกษาสำหรับประเทศไทย โดยเป็นความร่วมมือระหว่างมูลนิธิบูรณะนิเวศ (Ecological Alert and Recovery – Thailand: EARTH) ร่วมกับเครือข่ายระหว่างประเทศว่าด้วยการกำจัดสารพิษตกค้างยาวนานในสิ่งแวดล้อม (International POPs Elimination Network: IPEN) ซึ่งเป็นเครือข่ายที่มีนักวิชาการและองค์กรสิ่งแวดล้อมจากร้อยกว่าประเทศเป็นสมาชิก และมีสำนักงานอยู่ในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย และสถาบันเพื่อการวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity Research Institute: BRI) ซึ่งเป็นสถาบันผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศวิทยาและการศึกษามลพิษในสิ่งแวดล้อมและสิ่งมีชีวิตในมลรัฐเมนของสหรัฐอเมริกา
ตำบลท่าตูม อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี เป็นที่ตั้งของสวนอุตสาหกรรม 304 บนขนาดพื้นที่ 7,500 ไร่ มีอุตสาหกรรมหลักคือการผลิตเยื่อกระดาษและกระดาษ โรงไฟฟ้าถ่านหินและเชื้อเพลิงร่วม อุตสาหกรรมเคมีบางชนิด บ่อบำบัดน้ำเสีย และกองถ่านหินและอื่นๆ ซึ่งตั้งอยู่เหนือแหล่งน้ำสาธารณะ โดยเฉพาะคลองชลองแวง ซึ่งเป็นทั้งแหล่งน้ำและแหล่งอาหารที่สำคัญของชุมชน และไหลลงสู่แม่น้ำปราจีนบุรี และเป็นแหล่งศึกษาการสะสมของสารปรอทในปลาของโครงการนี้ และชุมชนที่อยู่รายรอบ ซึ่งเป็นชุมชนเกษตร อาศัยแหล่งน้ำนี้ทำการเกษตรและจับสัตว์น้ำเพื่อขายและเพื่อบริโภค
การพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่ท่าตูมเริ่มเกิดขึ้นในพ.ศ. 2537 และมีการขยายอย่างรวดเร็วในช่วงปี 2540 ปัจจุบันยังมีแผนที่จะขยายอุตสาหกรรมเพิ่มเติมอีกจำนวนมากตามผังเมืองรวมจังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งประกาศเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 โดยกำหนดพื้นที่เกือบครึ่งหนึ่งของตำบลท่าตูมเป็นพื้นที่สีม่วงเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมและคลังสินค้า
การพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ท่าตูมก่อปัญหามลพิษและสร้างความเดือดร้อนแก่ชุมชนที่อยู่อาศัยอยู่ดั้งเดิม ซึ่งประกอบอาชีพทำไร่มันสำปะหลัง ปลูกข้าว สวนผลไม้ การประมงน้ำจืดเพื่อยังชีพและเพื่อขาย ปัญหามลพิษสำคัญได้แก่ มลพิษอากาศ น้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม เสียงดัง และฝุ่นจากขี้เถ้าถ่านหินและฝุ่นละอองอื่นๆ ในช่วงที่ผ่านมาหลายปี ชาวบ้านในตำบลท่าตูมได้ร้องเรียนไปยังหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องถึงความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะปัญหาน้ำเสียจากโรงงานที่ทำให้ปลาตายเป็นจำนวนมาก รวมถึงผลกระทบจากมลพิษอากาศต่อสุขภาพ แต่ขณะนี้ปัญหาเหล่านี้ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้น
สำหรับการแถลงข่าวในครั้งนี้จัดขึ้นในเวลาใกล้เคียงกับสถาบันและเครือข่ายในประเทศสหรัฐอเมริกาและอีกหลายประเทศที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อเป็นการนำเสนอผลการศึกษาสู่การพิจารณาขององค์การสหประชาชาติในการแก้ไขปรับปรุงร่างอนุสัญญาสารปรอทดังที่กล่าวมา สำหรับกรณีของประเทศไทยนั้น มูลนิธิบูรณะนิเวศ จะนำเสนอผลการศึกษาการสะสมของสารปรอทในตัวอย่างปลาจากคลองชลองแวง ตำบลท่าตูม ที่ส่งไปวิเคราะห์ที่สถาบัน BRI จำนวน 20 ตัวอย่าง และเส้นผมของชาวบ้านจากตำบลท่าตูมจำนวน 20 ตัวอย่างที่ส่งให้ IPEN วิเคราะห์
การวิเคราะห์จากทั้งสองสถาบันในสหรัฐอเมริกาพบว่า ตัวอย่างทั้งสองประเภทจากตำบลท่าตูมมีการสะสมของสารปรอทสูงเกินค่ามาตรฐานของสำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมสหรัฐอเมริกา (US EPA) และสำหรับตัวอย่างปลามีการสะสมของสาร ปรอทสูงเกินค่ามาตรฐานอาหารของไทยที่มีอยู่ ทั้งนี้มูลนิธิบูรณะนิเวศมีความมุ่งหวังว่า ผลการศึกษาเรื่องสารปรอทในปลาและในคนมีนัยสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพ ชีวิตของชาวบ้านท่าตูมและพื้นที่ใกล้เคียง และจำเป็นที่สาธารณะน่าจะได้ร่วมรับรู้ และหวังว่าข้อค้นพบนี้จะมีส่วนผลักดันให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเร่ง พิจารณาและให้ความช่วยเหลือแก้ไขปัญหามลพิษที่กำลังสร้างความเดือดร้อนแก่ ชาวบ้านตำบลท่าตูม และมีส่วนสำคัญในการร่วมผลักดันให้อนุสัญญาว่าด้วยสารปรอท จะเป็นกฎหมายระหว่างประเทศที่จะมีผลคุ้มครองมนุษยชาติและสิ่งแวดล้อมให้มี ความปลอดภัยจากสารพิษนี้
3. องค์กรร่วมจัด วัน-เวลา และสถานที่
มูลนิธิบูรณะนิเวศ เครือข่ายเพื่อนตะวันออก และวาระเปลี่ยนตะวันออก
วันพุธที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2556 เวลา 10.00 – 12.00 น. ณ. ห้องประชุมชั้น 3 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถนนสามเสน กรุงเทพมหานคร
---------------------------------------------
ร่างกำหนดการ
10:00 – 10.15 ลงทะเบียน
10.15 – 11.00 นำเสนอข้อมูล โครงการ และผลการศึกษา
1) การศึกษาการสะสมของสารปรอทของพื้นที่ท่าตูม อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี และการสนับสนุนร่างอนุสัญญาว่าด้วยสารปรอทของสหประชาชาติ
2) การพัฒนาอุตสาหกรรมและแหล่งกำเนิดมลพิษและสารปรอทในพื้นที่ท่าตูม
3) ผลการศึกษาการสะสมของสารปรอทในปลาและเส้นผมของคนในพื้นที่ตำบลท่าตูม อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี
4) ข้อเสนอและการดำเนินการต่อไป
นำเสนอข้อมูล ผลการศึกษา ให้ข้อคิดเห็น โดย
1) คุณเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ
2) คุณจุฑามาศ ทรัพย์ประดิษฐ์ เจ้าหน้าที่เทคนิคและวิชาการ มูลนิธิบูรณะนิเวศ
3) คุณสมบุญ พัชรไพบูลย์ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 3 ตำบลท่าตูม อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี
4) นพ. กรรชิต คุณาวุฒิ ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานหลักประกับสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชีวอนามัย
11.00 – 12.00 อภิปรายและแลกเปลี่ยน